SURAT Dengue Model: ระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายและทำนายหมู่บ้านพื้นที่เสี่ยงเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกของจังหวัดสุราษฎร์ธานี

สุราษฎร์เดงกีโมเดล โดยความร่วมมือของเครือข่ายสุขภาพจังหวัดสุราษฎร์ธานี และศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ดำเนินการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกด้วยระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายและการทำนายหมู่บ้านพื้นที่เสี่ยงที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ผลการดำเนินการได้โมเดลต้นแบบของ 5 อำเภอ ได้แก่ 1)อำเภอกาญจนดิษฐ์ “กาญจนดิษฐ์เดงกีโมเดล” 2) อำเภอพระแสง “พระแสงเดงกีโมเดล” 3) อำเภอไชยา “ไชยาเดงกีโมเดล” 4) อำเภอเวียงสระ “เวียงสระเดงกีโมเดล” และ 5) อำเภอบ้านตาขุน “บ้านตาขุนเดงเดงกีโมเดล” ทั้งนี้แต่ละโมเดลมีความเฉพาะที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ของแต่ละอำเภอ

การเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมที่เป็นตัวแทนของพื้นที่ 7 จังหวัดในภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมจำนวน 110 คน โดยนายสุจินต์ คงทวี หัวหน้างานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้กล่าวรายงาน รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายแพทย์กู้เกียรติ กู้เกียรติกูล เป็นประธานในพิธีเปิด และมอบของที่ระลึกพร้อมเกียรติบัตรเพื่อแสดงถึงการชื่นชมความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก ของ 5 อำเภอที่กล่าวมาและอีก 3 อำเภอจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ อำเภอลานสกา “ลานสกาเดงกีโมเดล” อำเภอนบพิตำ “นบพิตำเดงกีโมเดล” และอำเภอนาบอน “อำเภอนาบอนเดงกีโมเดล”

การดำเนินการครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนทุนจากกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย “การจัดการความรู้การวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ความมั่นคง” ภายใต้โครงการจัดการความรู้การวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2562 ให้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยี “สุราษฎร์เดงกีโมเดล” แก่แกนนำเครือข่ายสุขภาพของ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน สามารถสร้างความตื่นตัวในการป้องกันโรคไข้เลือดออกเชิงระบบ (ระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลาย และการทำนายหมู่บ้านพื้นที่เสี่ยง) และการใช้เทคโนโลยี (http://surat.denguelim.com) ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ตลอดถึงมุ่งเน้นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของชุมชน (Community participatory action research) สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ต่อการ “…เป็นหลักในถิ่น”